คุยกับช่าง : เลือกรถเข็นยังไง ให้เหมาะกับผู้ใช้

” เลือกรถเข็นแบบไหนให้เหมาะกับเราดี ถามคนขายก็เชียร์แต่ตัวแพง ๆ ”
ลูกค้าที่มาซ่อมวีลแชร์มักจะมีคำถามมากมายเกี่ยวกับที่วางแขนของรถวีลแชร์ อย่างเช่น
– ควรจะใช้ล้อใหญ่หรือล้อเล็กดีถึงให้เหมาะสม ?
– เลือกรถเข็นที่ถอดที่วางเท้าได้ที่วางแขนได้ดีไหม ?
– การเลือกเบาะเลือกแบบไหนดีเบาะผ้า หรือเบาะหนังดี ?
สิ่งที่เราอธิบายลูกค้าอยู่เสมอนั่นคือ..
การเลือกรถเข็นไม่มีรูปแบบที่ตายตัว ขึ้นอยู่กับการใช้งานของผู้ใช้ รถเข็นที่แพงกว่าก็ใช่ว่าจะตอบโจทย์ได้ทั้งหมด ฟังก์ชันที่มีมากกว่าก็ไม่ได้มีประโยชน์ถ้าเราไม่ได้ใช้
การเลือกรถเข็นต้องดูอะไรบ้างเรามาดูกันเลยครับ
1. โครงสร้างรถเข็น : โครงสร้างรถเข็นแบ่งออกเป็น 2 แบบคือ โครงสร้างรถเข็นแบบพับไม่ได้ และโครงสร้างรถเข็นแบบพับได้
1.1 โครงสร้างรถเข็นแบบพับไม่ได้ จะเป็นโครงสร้างที่รถเข็นที่แข็งแรงที่สุด แต่จะมีปัญหาตอนเคลื่อนย้ายสถานที่ ซึ่งจะกินพื้นที่ค่อนข้างเยอะ ส่วนใหญ่รถเข็นที่มีโครงสร้างแบบนี้จะถูกใช้อยู่ในสถานที่ใดสถานที่หนึ่งตลอดเวลา ไม่นิยมเคลื่อนย้ายบ่อย ๆ ที่เราเห็นบ่อยๆก็จะเป็นรถเข็นอาบน้ำสแตนเลส
1.2 โครงสร้างรถเข็นแบบพับได้ ซึ่งจะมีการพับได้หลายแบบ เพื่อทำให้จัดเก็บได้ง่าย กะทัดรัด และมีน้ำหนักเบา เหมาะสำหรับการพกพาเวลาเดินทาง หรือจัดเก็บได้ง่ายและประหยัดพื้นที่
2. วัสดุที่ใช้ทำรถเข็น : หลักๆจะมีอยู่ 3 อย่างด้วยกันคือ สแตนเลส,เหล็ก และอลูมิเนียม ซึ่งทั้ง 3 แบบก็จะมี จุดเด่น และ จุดด้อย ต่างกันไป ตามที่จะได้อธิบายดังต่อไปนี้
2.1 รถเข็นสแตนเลส :
ข้อดี : มีความแข็งแรงและทนต่อการโดนน้ำ
ข้อเสีย : มีน้ำหนักมากและราคาแพงมาก
เหมาะสำหรับ : รถเข็นอาบน้ำ,หรือรถเข็นนั่งถ่าย ที่ใช้ประจำอยู่ ณ.สถานที่ใดสถานที่หนึ่ง
2.2 รถเข็นเหล็ก :
ข้อดี : มีความแข็งแรงและราคาถูก
ข้อเสีย : มีน้ำหนักมากและเกิดสนิมง่ายเมื่อโดนน้ำ
เหมาะสำหรับ : รถเข็นตามโรงพยาบาลหรือสถานที่ราชการต่าง ๆ ที่ไม่ต้องเคลื่อนย้ายบ่อยมาก
2.3 รถเข็นอลูมิเนียม :
ข้อดี : มีน้ำหนักเบาและทนต่อการโดนน้ำ
ข้อเสีย : ราคาค่อนข้างแพงและความแข็งแรงน้อยกว่า 2 แบบข้างบน
เหมาะสำหรับ : รถเข็นทั่วไปที่ใช้เดินทางบ่อย ๆ
3. ล้อรถเข็นผู้ป่วย (ล้อหลัง) : ล้อรถเข็นผู้ป่วยจะมี 2 กลุ่ม โดยจะแบ่งตามวัตถุประสงค์ในการใช้ดังนี้
3.1 กลุ่มล้อใหญ่ : ในประเทศไทยจะแบ่งเป็น 3 ขนาดคือ 20,22 และ 24 นิ้ว ซึ่งกลุ่มล้อใหญ่นี้ คนนั่งจะสามารถเข็นเองได้ โดยจะมีวงกลมที่ติดกับล้อซึ่งเรียกว่าแกนปั่นมีไว้สำหรับจับแล้วเข็น
ข้อดี : ผู้ใช้สามารถช่วยเหลือตัวเองได้สามารถเข็นไปไหนมาไหนด้วยตัวเองได้
ข้อเสีย : มีน้ำหนักมาก ขนาดเทอะทะและจะมีราคาแพงกว่ากลุ่มล้อเล็กนิดหน่อย
เหมาะสำหรับ : ผู้ใช้ที่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และต้องการเข็นรถเข็นด้วยตัวเอง
3.2 กลุ่มล้อเล็ก : ในประเทศไทยจะแบ่งเป็น 4 ขนาดคือ 8,12,14 และ 16 นิ้ว ซึ่งกลุ่มล้อเล็กนี้ คนนั่งจะไม่สามารถเข็นด้วยตัวเองได้ ต้องมีคนคอยดูแลและเข็นให้อยู่ตลอดเวลา
ข้อดี : มีน้ำหนักเบา ขนาดเล็กและคล่องตัวกว่ารุ่นล้อใหญ่
ข้อเสีย : ต้องมีคนเข็นให้ตลอดเวลา
เหมาะสำหรับ : ผู้ป่วยที่ไม่สามารถช่วยตัวเองได้ หรือ ผู้สูงอายุที่มีลูกหลานคอยดูแลตลอดเวลาอยู่แล้ว
หมายเหตุ 1 : ล้อ 8 นิ้ว เป็นล้อที่เล็กมาก ไม่เหมาะสำหรับทางที่ขรุขระ เหมาะสำหรับใช้เข็นทางเรียบเท่านั้น
หมายเหตุ 2 : รอล้อ 14 นิ้ว เป็นล้อที่ไม่สามารถหายางอะไหล่เปลี่ยนได้ในประเทศไทย ควรหลีกเลี่ยงการเลือกล้อขนาดนี้
4. ความกว้างของเบาะนั่ง : ปกติเบาะนั่งมาตรฐานในประเทศไทยจะอยู่ที่ 45 เซนติเมตร ซึ่งจะเรียกว่าความกว้างของรถเข็นขนาดมาตรฐาน ซึ่งความกว้างของเบาะนี้จะถูกเช็คเทียบกับสะโพกของผู้ใช้งาน นอกจากนี้ยังมีขนาดพิเศษซึ่งจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่กว่าขนาดมาตรฐาน เช่น 35และ 40 เซนติเมตร สำหรับคนที่ตัวค่อนข้างเล็ก (เด็กและคนชรา) หรือ 55 เซนติเมตร สำหรับคนที่ตัวค่อนข้างใหญ่ ซึ่งขนาดที่แตกต่างกันนี้จะแปรผันตามความสามารถในการรับน้ำหนักของรถเข็นด้วย (โดยปกติรถเข็นทั่วไปจะรองรับน้ำหนักได้ 100 กิโลกรัม หากรถเข็นที่กว้าง 55 cm อาจจะรองรับน้ำหนักได้ 125-150 กิโลกรัม)
5. วัสดุที่ใช้ทำเบาะ : หลัก ๆ จะมีอยู่ 2 แบบ
5.1 เบาะหนัง :
ข้อดี : สามารถเช็ดทำความสะอาดได้ง่าย
ข้อเสีย : ไม่ซับน้ำทำให้คนนั่งรู้สึกเหนอะหนะ และอาจจะทำให้เกิดแผลบริเวณตูดท้องขาหรือข้อพับได้
5.2 เบาะผ้า :
ข้อดี : นั่งสบาย ใช้ไปนาน ๆ แล้วจะนุ่มขึ้น ดูดซับเหงื่อและของเหลวได้ดีทำให้คนนั่งรู้สึกไม่เหนอะหนะ
ข้อเสีย : เปื้อนแล้วทำความสะอาดยาก หลังจากใช้ไปสักพักจะมีคราบติดอยู่ทำให้ดูไม่สวยงาม
6. ยางล้อหลังรถเข็นผู้ป่วย : ในประเทศไทยจะใช้อยู่ 3 ชนิด
6.1 ยางลม : เป็นยางรูปแบบเก่าซึ่งปัจจุบันถูกแทนที่ด้วยยางตันไปเกือบหมดแล้ว
ข้อดี : ราคาถูก ทน สามารถสูบลมปรับความแข็งได้ตามที่ต้องการ
ข้อเสีย : มีปัญหาเรื่องยางรั่วบ่อย, ต้องการการดูแลเอาใจใส่ค่อนข้างสูง
6.2 ยางตันแบบยางธรรมชาติ : เป็นการนำยางธรรมชาติมาหล่อเป็นยางตันสำหรับรถเข็นผู้ป่วย
ข้อดี : อายุการใช้งานยาวนานในสภาวะการใช้งานปกติ
ข้อเสีย : มีความยืดหยุ่นตัวน้อยมาก ๆ ทำให้คนนั่งรับแรงกระแทกเวลาตกหลุมหรือเข็นในทางไม่เรียบค่อนข้างเยอะ, ยางมีน้ำหนักมากทำให้รถเข็นที่ใช้ยางชนิดนี้มีน้ำหนักมากตามไปด้วย
6.3 ยาง PU : เป็นยางสังเคราะห์ผู้ผลิตมาแทนยางลม
ข้อดี : มีความทนทานสูง,น้ำหนักเบา การยืดหยุ่นตัวดีมาก ทำให้รู้สึกดีเวลานั่งบนรถเข็นผู้ป่วย
ข้อเสีย : อายุการใช้งานประมาณ 3 ปี (แนะนำให้เปลี่ยนทันทีเมื่อยางเริ่มลอกร่อนหรือเป็นขุย)
7. ฟังก์ชั่นพิเศษอื่น ๆ : รถเข็นผู้ป่วยยังมีฟังก์ชั่นอื่น ๆ ที่รองรับความต้องการเฉพาะบุคคลอีกด้วย เช่น การถอดที่วางเท้าหรือที่วางแขน, การปรับเอนของเบาะ,การปรับเอนที่วางเท้า, เพิ่มส่วนรองรับคอและศรีษะ ฯลฯ ซึ่งฟังก์ชันเสริมเหล่านี้มีประโยชน์มากสำหรับผู้ที่จำเป็นต้องใช้จริง ๆ ถ้าผู้ใช้ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ฟังก์ชั่นเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องซื้อรถเข็นที่มีฟังก์ชันเสริม เพราะฟังก์ชันเสริมเหล่านี้จะทำให้รถเข็นมีราคาสูงกว่าปกติ และส่วนที่เป็นฟังก์ชั่นเสริมจะทำให้รถมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น และจะเสียง่ายกว่าปกติด้วย
สรุป : หลังจากอ่านข้อมูลครบ 7 ข้อท่านจะรู้ว่ารถเข็นที่เหมาะกับท่านอาจจะไม่ใช่รถเข็นที่แพงที่สุดเสมอไป และฟังก์ชั่นที่ไม่ได้ใช้งานจะกลายเป็นภาระของท่านในอนาคตอีกต่างหาก เพราะฉะนั้นลองดูวัตถุประสงค์ของท่านให้ดีก่อนเลือกซื้อรถเข็นคันต่อไปนะครับ
เป็นยังไงกันบ้างครับสำหรับพูดคุยกับช่าง
เรื่องการเลือกซื้อรถเข็นผู้ป่วยในสัปดาห์นี้
ส่วนสัปดาห์หน้าจะเป็นหัวข้ออะไร รอติดตามได้เลยครับ
และสำหรับใครที่มีคำถามเรื่องใด สามารถทักมาสอบถามได้เลยนะครับ
Elder4Care ยินดีให้คำปรึกษาครับ
สำหรับใครที่ต้องการเปลี่ยนที่วางแขน หรืออะไหล่รถเข็นอื่น ๆ
Eleder4Care ของเราก็มีบริการนะครับ 😁
หน้าร้านเปลี่ยนฟรี!! ต่างจังหวัดมีบริการจัดส่งทั่วประเทศครับ
#ยางรถเข็น #วีลแชร์ #รถเข็น #wheelchair #รับซ่อมรถเข็นผู้ป่วย #วางแขนรถเข็นผู้ป่วย #การเลือกซื้อรถเข็นผู้ป่วย

 

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
แจ้งเตือนสำหรับ
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments